15 พฤติกรรมทำง่ายแต่โรคหัวใจอาจถามหา
โดย pimchanok | วันที่ 16 พฤศจิกายน 2555
1. ไม่รักษาสุขภาพช่องปาก
เคยมีคำกล่าวเกี่ยวกับสุขภาพปากและสุขภาพหัวใจเอาไว้ว่า
สองสิ่งนี้มีความเชื่อมโยงกัน หากสุขภาพช่องปากไม่ค่อยโสภา มีกลิ่นเหม็น หรือมีเศษอาหารหมักหมมตามซอกต่าง
ๆ ก็เป็นไปได้ว่า สุขภาพหัวใจอาจต้องการหมอด้วยก็เป็นได้ ทั้งนี้เพราะในเวลาที่มีการอักเสบภายในเยื่อบุช่องปาก
เชื้อโรคต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะทะลุทะลวงเข้าไปในร่างกายได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง
2. นอนหลับไม่เพียงพอ
ปัจจุบันคนที่มีโอกาสนอนหลับอย่างเพียงพอมีจำนวนน้อยลง
จากเหตุผลต่าง ๆ เช่น ทำงานดึก หรือติดใจกับชีวิตในเวลากลางคืนมากเกินไปหน่อย ซึ่งการพักผ่อนไม่เพียงพอนี้
เป็นการทำร้ายอวัยวะสำคัญอย่างหัวใจไปด้วย โดยคนที่นอนหลับไม่เพียงพอนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
หรือหัวใจวายได้ ดังนั้น หากทำได้ควรนอนหลับพักผ่อนให้ได้ 8 ชั่วโมงต่อวัน
3. ไม่เคยลาพักร้อน
การทำงานหนักติดต่อกันอาจให้ผลดีในแง่ความก้าวหน้า
แต่สำหรับสุขภาพแล้ว การลาพักร้อนกลับช่วยได้มากกว่า
เพราะการลาพักร้อนช่วยให้เราได้คลายเครียด และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้
การศึกษาจาก the Wisconsin
Women’s Health Study ที่พบว่า
ผู้ที่มีโอกาสลาพักร้อนนั้นจะยิ่งห่างไกลจากความเครียด อาการซึมเศร้า เหนื่อยง่าย
แถมยังมีความสุขในชีวิตแต่งงานมากขึ้นด้วย
4. ไม่รับประทานผักผลไม้
ผักและผลไม้ล้วนมีสารต้านอนุมูลอิสระ
แถมด้วยไฟเบอร์ วิตามิน ที่จำเป็นต่อร่างกาย นอกจากนั้น
ผักผลไม้ยังมีโปแตสเซียมสูง ซึ่งสามารถช่วยควบคุมความดันโลหิตได้ ยกตัวอย่างเช่น
ผลไม้รสเปรี้ยว กล้วย มะเขือเทศ มัน ถั่ว แอปเปิ้ล แตงกวา กะหล่ำปลี
จากการศึกษาพบว่า สามารถช่วยลดการเกิดหัวใจวายได้สูงถึง 52 เปอร์เซ็นต์
5. ไม่ได้รับแสงแดดเพียงพอ
คุณอาจเกรงว่าการออกไปรับแสงอาทิตย์มาก
ๆ นั้นเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งผิวหนัง อีกทั้งการที่ตากแดดจนตัวดำก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนักในประเทศไทย
แต่ไม่ว่าอย่างไร แสงแดดก็มีประโยชน์ต่อร่างกาย และควรเลือกรับแสงแดดในเวลาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ยังพบว่าแสงแดดมีผลดีต่อจิตใจด้วยเช่นกัน เพราะช่วยให้จิตใจแจ่มใส ปลอดโปร่งมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายงานวิจัยที่พบว่า การได้รับวิตามินดีต่ำนั้นมีผลต่อความดันโลหิตด้วย
แต่รับแสงแดดแค่ไหนถึงพอดี ถ้าเป็นช่วงเดือนที่ค่อนข้างร้อนนั้น อาจจะ 5 - 30 นาทีในช่วงที่แดดไม่แรงมาก อาจให้ร่างกายบางส่วนเช่น
หน้า แขน ขา หรือหลัง ได้สัมผัสแสงแดดก็เพียงพอ
6. ใช้บริการร้านประเภท Drive-through บ่อย ๆ
ลองเปลี่ยนเป็นจอดรถแล้วเดินลงไปซื้อของที่ต้องการ
แทนการใช้บริการแบบ Drive-through ก็สามารถช่วยได้ บางคนอาจคิดว่า ต้องประหยัดเวลาตรงนี้ไว้ เพื่อจะได้รีบไปฟิตเนสออกกำลังกาย
แต่จริง ๆ ถ้าในหนึ่งวันได้มีโอกาสเดินมาก ๆ ก็อาจทดแทนการไปเล่นฟิตเนสได้เช่นกัน
ลองเริ่มจากการลดใช้บริการประเภท Drive-through ดูก่อนก็ยังได้
7. ไม่ยอมไปตรวจร่างกาย
หากคุณดูสุขภาพดีและไม่ปรากฏสัญญาณใด
ๆ ของโรคหัวใจเลย ทำให้คุณชะล่าใจและเมินการตรวจสุขภาพร่างกายประจำปี
นั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะโรคหัวใจสามารถคร่าชีวิตคุณได้โดยง่าย
หลายคนไม่แสดงอาการของโรคมาก่อนเลยด้วย สมาคมโรคหัวใจอเมริกาแนะนำว่า ในกลุ่มผู้มีสุขภาพปกติควรจะเริ่มตรวจเช็คหัวใจตั้งแต่อายุ
20 ปีเป็นต้นไป ส่วนการตรวจวัดความดันโลหิตควรเช็คทุก 6 เดือน น้ำตาลในเลือดควรเช็คทุก ๆ 3 ปี
8. เลือกของว่างผิดประเภท
ขนมถุง ๆ
มันฝรั่งทอด หรือขนมปังกรอบ เป็นขนมที่มีเกลือและน้ำตาลแฝงอยู่ในปริมาณมาก
และช่วยเพิ่มความดันโลหิตของเราได้ รวมถึงค่าไตรกลีเซอไรด์ด้วย นอกจากนั้น
ความที่มันมีแต่คาร์โบไฮเดรต คุณจึงมักจะรู้สึกหิวได้ง่ายในเวลาไม่นาน
และทำให้คุณต้องรับประทานอาหารมากขึ้น
9. เมินถั่ว
ถั่วเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีอีกแหล่งหนึ่ง
และหากรับประทานให้ถูกวิธีก็ไม่ต้องกังวลกับไขมันอิ่มตัว แถมยังมีไฟเบอร์ที่ดีต่อร่างกาย
และช่วยลดคลอเลสเตอรอลได้ด้วย แต่สำหรับประเทศไทย อาจต้องพิจารณาเลือกแหล่งที่มาของถั่วให้สะอาด
และปลอดจากเชื้อราด้วย
10. ใช้เครื่องปรุงรสเยอะ
การบริโภคสารปรุงรสจำนวนมากอาจทำให้ร่างกายคุณได้รับเกลือมากเกินไป
ซึ่งสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกาเผยว่า ไม่ควรให้ร่างกายได้รับเกลือมากกว่า 1500 มิลลิกรัมต่อวัน
เพราะนั่นจะทำให้คุณเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากขึ้น
11. ดื่มน้ำอัดลม
น้ำอัดลม
เครื่องดื่มประเภทบำรุงร่างกาย เหล่านี้เป็นตัวเพิ่มน้ำตาลให้กับร่างกาย สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกาแนะนำว่าผู้หญิงไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน
6 ช้อนชาต่อวัน ผู้ชายไม่ควรเกิน 8 ช้อนชาต่อวัน
แต่ในน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มรสหวานเหล่านั้น บางขวดมีน้ำตาลเกิน 8 ช้อนชาด้วยซ้ำ
12. ไม่มีเวลาให้ครอบครัว
การมีงานทำจนยุ่งไปหมดอาจเป็นสิ่งที่ดีสำหรับบางคน
แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องยุ่งอยู่แต่กับงานตลอดสัปดาห์ การได้กลับมาพบหน้าครอบครัว
พบหน้าคนที่รักช่วยยืดอายุให้กับหัวใจได้ อย่าปล่อยให้ตนเองรู้สึกโดดเดี่ยว มีงานเป็นเพื่อนเด็ดขาด
เพราะมีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์กพบว่า ผู้ที่บอกกับตัวเองว่าตัวเองเหงา
โดดเดี่ยวนั้น มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ และโดยมากผู้ที่บอกตัวเองเช่นนี้มักจะเป็นผู้หญิงด้วย
ความรู้สึกเหงานั้นนอกจากจะทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่แล้ว
ยังหมายถึงการไม่มีกิจกรรมทำ ต้องนั่งเฉย ๆ ซึ่งในผู้หญิงนั้น ความเหงาอาจนำไปสู่ปัญหาน้ำหนักเกิน
โรคเครียด และนอนไม่หลับ ขณะที่คนที่มีสังคม มีเพื่อนฝูงให้ปรึกษานั้นพบว่ามีปัญหาเหล่านี้น้อยกว่า
13. ครอบครัวมีประวัติโรคหัวใจ
การจะทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากน้อยแค่ไหน
บางทีอาจต้องพิจารณาจากประวัติของบุคคลในครอบครัวร่วมด้วย และไม่เฉพาะพ่อแม่ หากพี่หรือน้องของคุณมีสัญญาณของอาการดังกล่าว
คุณเองก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็น นอกจากนั้น
ญาติพี่น้องที่ใกล้ชิดอย่างปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา ก็เช่นกัน หากพวกเขาเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว
ให้พิจารณาถึงไลฟ์สไตล์ของคนเหล่านี้ร่วมด้วย
14. พยายามทำสิ่งต่าง ๆ ในเวลาเดียวกัน
โดยเฉพาะคุณแม่บ้านซึ่งบางทีมีงานล้นมือเกินกว่าจะจัดการให้เสร็จทันในเวลาที่มีอยู่
พวกเธอจึงพยายามทำหลายสิ่งหลายอย่างพร้อม ๆ กัน และหลายคนก็สามารถทำได้ดี แต่นั่นอาจหมายถึงการทำงาน
"มาก" เกินไป และทำให้เกิดความเครียดได้มาก ซึ่งส่งผลต่อหัวใจของเราในที่สุด
15. ไม่บอกใครว่าต้องการความช่วยเหลือ
หากคุณกำลังมีปัญหาสุขภาพ
และต้องการลด ละ เลิกพฤติกรรมบางอย่างเพื่อให้สุขภาพดีขึ้น เช่น เลิกดื่มเหล้า
เลิกสูบบุหรี่ เลิกรับประทานขนมหวาน การหักดิบด้วยตัวเองแบบเงียบ ๆ
อาจไม่เป็นผลดีสักเท่าไร เพราะวันใดที่จิตใจคุณอ่อนแอ
คุณอาจหันไปหาสิ่งเหล่านั้นได้โดยง่าย ทางที่ดีกว่าคือการบอกกับคนรอบข้าง
หรือคนในครอบครัวให้พวกเขารับทราบด้วย ว่าคุณกำลังจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
เพื่อที่เขาเหล่านั้นจะได้ช่วยสนับสนุน ให้กำลังใจ
และไม่ซื้อสิ่งที่อาจทำให้คุณตบะแตกมาฝาก
ที่มา : หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการ