ใบความรู้ที่
1
เรื่อง ค่านิยมทางเพศกับวัฒนธรรม
ค่านิยมทางเพศ
ค่านิยมทางเพศของวัยรุ่นในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก
ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกอย่างเปิดเผยในเรื่องเพศ
โดยเฉพาะในวัยรุ่นหญิงหากมีค่านิยมทางเพศที่ไม่ถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมาก
โดยเฉพาะเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
ซึ่งเป็นเรื่องเสียหายที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม
ค่านิยมทางเพศ
(Sexual
Value) หมายถึง หลักการพื้นฐานที่บุคคลยึดเป็นหลักในการปฏิบัติเพื่อดำเนินชีวิตซึ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศ
โดยค่านิยมทางเพศของบุคคลเกิดจากการอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่ในสถาบันครอบครัว
ระบบการศึกษา ประสบการณ์ กระบวนการขัดเกลาและถ่ายทอดทางสังคม
ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ
ค่านิยมทางเพศตามสังคมและวัฒนธรรม
วัฒนธรรมเป็นมรดกของสังคม
เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นด้วยภูมิปัญญา เพื่อเป็นวิถีชีวิตของคนในสังคม
เป็นกฎระเบียบหรือมาตรฐานของพฤติกรรมที่คนในสังคมยอมรับ โดยเป็นตัวกำหนด ขับเกลา
สร้างสรรค์มนุษย์ให้มีชีวิตที่ดีงาม โดยวัฒนธรรมมีผลต่อค่านิยมทางเพศ ดังนี้
1)
ค่านิยมทางเพศตามสังคมและวัฒนธรรมไทย
1.1)
บรรทัดฐานทางครอบครัวและสังคม ค่านิยมทางเพศตามสังคมและวัฒนธรรมไทย
ในอดีตมีความแตกต่างจากในปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด
เนื่องจากในอดีตบุตรหลานจะถูกปลูกฝังโดยการอบรมเลี้ยงดูให้เคารพเชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดาอย่างเคร่งครัด
วิถีชีวิตตลอดจนวิธีการดำเนินชีวิตจะต้องอยู่ในขอบเขตที่ทางครอบครัวได้วางเอาไว้
รวมทั้งปัจจัยทางสังคมและสภาพแวดล้อมก็ยังไม่เอื้ออำนวยอย่างเช่นปัจจุบัน
ค่านิยมทางเพศในอดีตมีลักษณะดังนี้
ตัวอย่างค่านิยมทางเพศในอดีต
(1) ผู้หญิงต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเพียงอย่างเดียว
จึงทำให้ผู้หญิงต้องถูกกดขี่ข่มเหงด้วยความไม่เสมอภาคทางเพศ
(2) ผู้ชายมักเป็นใหญ่ในบ้าน
และมีอำนาจในการตัดสินใจทุกอย่าง
ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่เพียงแค่ดูแลบ้านและบุตรเท่านั้น
(3) การนัดพบกัน
ในอดีตสามารถพบกันได้โดยการแนะนำจากผู้ใหญ่หรือพบกันตามวัดในเทศกาลต่างๆ
ไม่มีโอกาสได้มาพบกันในสถานที่สาธารณะอย่างเช่นในปัจจุบัน
(4) ผู้หญิงต้องไม่แสดงกิริยายั่วยวน
แสดงท่าทีเชื้อเชิญหรือให้โอกาสผู้ชายได้เข้ามาใกล้ชิด
(5) การถูกควบคุมจากผู้ใหญ่ในเรื่องของการเลือกคนรัก
การแต่งงาน ที่เรียกว่า “คลุมถุงชน”
โดยให้เหตุผลถึงความคู่ควร เหมาะสม
เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าจะนึกถึงความรักของระหว่างบุคคล
ทั้งนี้มักจะอ้างว่าใช้บรรทัดฐานทางครอบครัวและสังคมเป็นเครื่องตัดสินใจให้แต่งงานกัน
ซึ่งอาจจะด้วยสมัครใจหรือถูกบังคับก็ตาม
แต่ก็ต้องยินยอมพร้อมทั้งปลูกฝังค่านิยมของเพศหญิงให้มีความรักและซื่อสัตย์ต่อสามีเพียงคนเดียว
ตัวอย่างค่านิยมทางเพศในปัจจุบัน
ปัจจุบันสภาพครอบครัวและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป
ผู้หญิงต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเช่นเดียวกับผู้ชาย ส่วนภาระหน้าที่การดูแลบ้านและการเลี้ยงดูบุตรก็ยังคงเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเช่นเดิม
ทั้งนี้ ผู้หญิงสามารถได้รับการศึกษาในระดับสูงๆ ได้เช่นเดียวกับผู้ชาย
ผู้หญิงมีสิทธิ์ที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นและโต้แย้งในกรณีต่างๆ ได้
เนื่องจากได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกัน ทำให้มีโอกาสมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น
การเลือกฝ่ายชายที่จะมาเป็นคู่ครอง การขอหย่าถ้าแต่งงานไปแล้วไม่มีความสุข
การเป็นผู้นำครอบครัว เป็นต้น
1.2)
สภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกันมาก
ในปัจจุบันมีสิ่งยั่วยุ สถานบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ ศูนย์การค้า ปัญหาสารเสพติด
และความรุนแรง ซึ่งส่งผลให้วัยรุ่นอาจใช้ชีวิตที่หลงผิด
จนอาจก่อให้เกิดเป็นปัญหาอาชญากรรมทางสังคมได้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ยากจน
ไม่มีโอกาสศึกษาต่อ ต้องหาเลี้ยงชีพโดยไม่สุจริต
เกิดความฟุ้งเฟ้อเพื่อต้องการให้ตนเองทัดเทียมกับผู้อื่น
และในที่สุดก็เกิดค่านิยมทางเพศที่ผิดๆ เช่น การมีความคิดว่า
การขายบริการทางเพศเป็นสิ่งที่หารายได้ให้แก่ตนเองได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น
1.3)
สื่อเทคโนโลยี
ความก้าวหน้าและรวดเร็วของสื่อเทคโนโลยี
อาจเป็นสาเหตุของการทำให้เกิดค่านิยมทางเพศที่ไม่ถูกต้อง
เนื่องจากวัยรุ่นสามารถติดต่อหรือคบเพื่อนต่างเพศที่ไม่เคยรู้จักกันได้ง่าย
เพียงแต่โทรศัพท์หรือใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสื่อในการติดต่อกัน หากใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือคุยกับบุคคลที่ไม่หวังดีด้วย
อาจก่อให้เกิดปัญหาการถูกล่อลวงหรือปัญหาในทางไม่ดีอื่นๆ ตามมา
วัฒนธรรมไทยให้ความสำคัญในเรื่องความถูกต้องดีงามในเรื่องเพศ
ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาชิกในสังคมไทยยึดถือปฏิบัติ
รวมทั้งการอบรมสั่งสอนถ่ายทอดความเชื่อและค่านิยมสืบต่อกันมาทางสถาบันครอบครัวโดยมีพ่อแม่เป็นผู้คอยสั่งสอน
อบรมชี้แนะลูกให้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในการดำรงชีวิต
ดังสุภาษิตสอนหญิงของสุนทรภู่ที่ว่า
“จงรักนวลสงวนงามห้ามใจไว้ อย่าหลงใหลจงจำคำที่พร่ำสอน
คิดถึงหน้าบิดาและมาดร อย่ารีบร้อนเร็วนักมักไม่ดี
เมื่อสุกงอมหอมหวนจึงควรหล่น อยู่กับต้นอย่าให้พรากไปจากที่
อย่าชิงสุกก่อนห่ามไม่งามดี เมื่อบุญมีคงจะมาอย่าปรารมภ์”
2)
ค่านิยมทางเพศตามสังคมและวัฒนธรรมตะวันตก
ปัจจุบันวัฒนธรรมตะวันตกได้เข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมทางสังคมของไทยมากขึ้น
ทั้งนี้เนื่องมากจากเทคโนโลยีและการสื่อสารที่ก้าวหน้า รวดเร็ว
ส่งผลทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมลอกเลียนแบบ และดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมตะวันตก
ซึ่งวัฒนธรรมบางอย่างก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมมากมาย
โดยเฉพาะการมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม
การเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตกไม่ว่าจากสื่อโทรทัศน์
ภาพยนตร์ หนังสือ หรืออินเตอร์เน็ตก็ตาม ได้ทำให้ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี
วัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทยเปลี่ยนไป ซึ่งวัฒนธรรมบางอย่างส่งผลดี เช่น
การกล้าแสดงความคิดเห็น ความขยัน และความทุ่มเทให้กับงาน การมองโลกในแง่บวก
การมีแนวคิดที่ดีต่างๆ เป็นต้น ในขณะที่วัฒนธรรมบางอย่างกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี
ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย จากพฤติกรรมวัยรุ่น เช่น เสรีภาพในการคบเพื่อนต่างเพศ
ซึ่งบางครั้งมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์
การถูกเนื้อต้องตัวระหว่างชายกับหญิงมีมากขึ้น
พฤติกรรมการแสดงออกทางเพศในที่สาธารณะ เช่น การโอบกอด การแต่งกายที่ล่อแหลม
กิริยามารยาทที่ไม่เรียบร้อย การแสดงออกอย่างเปิดเผยในเรื่องเพศ
หรือการที่วัยรุ่นหญิงบางคนตามจีบผู้ชาย เป็นต้น
อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกที่มีต่อพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นในสังคมไทย
พอจะสรุปได้ดังนี้
(1) ปัญหาเรื่องเพศ เช่น
การคบเพื่อนต่างเพศอย่างไม่เหมาะสม การออกเที่ยวกลางคืนกับเพื่อนต่างเพศ
การแต่งกายดึงดูดเพศตรงข้าม เปิดเผยให้เห็นของสงวนมากเกินไป
การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน เป็นต้น
(2) ปัญหาสังคม เช่น
การมั่วสุมกันในสถานเริงรมย์ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การทำแท้ง การใช้สารเสพติด
เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อไม่อาจสกัดกั้นวัฒนธรรมต่างๆ
ที่แพร่กระจายเข้ามาได้
จึงควรเลือกและสร้างค่านิยมในเรื่องเพศที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย เช่น ลด ละ เลิก
การเที่ยวสถานบริการทางเพศ ไม่สำส่อนทางเพศ ไม่คบเพื่อนต่างเพศโดยไม่เลือกหน้า
ฝ่ายชายแสดงความเป็นสุภาพบุรุษให้เกียรติไม่ล่วงเกินสุภาพสตรี เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
กรมวิชาการ
กระทรวงศึกษาธิการ. (2546).
การจัดสาระการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและ
พลศึกษา. กรุงเทพฯ : คุรุสภา.
พรสุข
หุ่นนิรันดร์ และคณะ. (2552).
หนังสือเรียน รายวิชาพื้นฐาน สุขศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4.
กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น