วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อภิธานศัพท์ทางพลศึกษา

อภิธานศัพท์
          กระบวนการตามธรรมชาติในการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ  ของร่างกายตามลักษณะโครงสร้าง  หน้าที่  และการทำงานร่วมกันของข้อต่อ  กล้ามเนื้อ  กระดูกและระบบประสาทที่เกี่ยวข้องภายใต้ขอบข่าย   เงื่อนไข   หลักการ  และปัจจัยด้านชีวกลศาสตร์ที่มีผลต่อการเคลื่อนไหว  เช่น   ความมั่นคง  (Stability)  ระบบคาน (Leverage)  การเคลื่อน  (Motion)  และแรง  (Force)

การเคลื่อนไหวเฉพาะอย่าง  (Specialized  Movement)
          การผสมผสานกันระหว่างทักษะย่อยของทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานต่าง ๆ  การออกกำลังกาย  การเล่นเกม  และการเล่นกีฬาต่าง ๆ   ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับกิจกรรมทางกาย  เช่น  การขว้างลูกซอฟท์บอล   ต้องอาศัยการผสมผสานของทักษะการสไลด์  (การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่)  การขว้าง  (การเคลื่อนไหวแบบประกอบอุปกรณ์)  การบิดตัว  (การเคลื่อนไหวแบบไม่เคลื่อนที่)  ทักษะที่ทำบางอย่างยิ่งมีความซับซ้อนและต้องใช้การผสมผสานของทักษะการเคลื่อนไหวพื้นฐานหลาย ๆ   ทักษะรวมกัน
การเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน  (Daily  Movement)
          รูปแบบหรือทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่าง ๆ  ที่บุคคลทั่วไปใช้ในการ  ดำเนินชีวิต  ไม่ว่าเพื่อการประกอบกิจวัตรประจำวัน  การทำงาน   การเดินทางหรือกิจกรรมอื่น ๆ  เช่น        การยืน  ก้ม  นั่ง  เดิน  วิ่ง  โหนรถเมล์  ยกของหนัก  ปีนป่าย  กระโดดลงจากที่สูง  ฯลฯ 

การเคลื่อนไหวพื้นฐาน  (Fundamental  Movements)
          ทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายที่จำเป็นสำหรับชีวิตและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ในการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ   ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เป็นทักษะที่มีการพัฒนาในช่วงวัยเด็ก  และจะเป็นพื้นฐานสำหรับการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ  เมื่อเจริญวัยสูงขึ้น   ตลอดจนเป็นพื้นฐานของการ มีความสามารถในการเคลื่อนไหว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเล่นกีฬา  การออกกำลังกาย  และการประกอบกิจกรรมนันทนาการ  การเคลื่อนไหวพื้นฐาน  สามารถแบ่งออกได้เป็น  ๓   ประเภท  คือ
          ๑.  การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่  (Locomotor   Movement)  หมายถึง  ทักษะการเคลื่อนไหว ที่ใช้ในการเคลื่อนร่างกายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง  ได้แก่  การเดิน  การวิ่ง  การกระโดด   สลับเท้า  การกระโจน  การสไลด์  และการวิ่งควบม้า  ฯลฯ  หรือการเคลื่อนที่ในแนวดิ่ง   เช่น  การกระโดด   ทักษะการเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นพื้นฐานของการทำงานประสานสัมพันธ์ทางกลไกแบบไม่ซับซ้อน  และเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ 
          ๒.  การเคลื่อนไหวแบบอยู่กับที่  (Nonlocomotor Movement)  หมายถึง  ทักษะการเคลื่อนไหวที่ปฏิบัติโดยร่างกายไม่มีการเคลื่อนที่ของร่างกาย  ตัวอย่างเช่น  การก้ม  การเหยียด การผลักและดัน  การบิดตัว   การโยกตัว  การไกวตัว   และการทรงตัว  เป็นต้น
          ๓.  การเคลื่อนไหวแบบประกอบอุปกรณ์  (Manipulative Movement)  เป็นทักษะการเคลื่อนไหวที่มีการบังคับหรือควบคุมวัตถุ  ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการใช้มือและเท้า  แต่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายก็สามารถใช้ได้   เช่น  การขว้าง  การตี  การเตะ  การรับ  เป็นต้น

การจัดการกับอารมณ์และความเครียด
(Emotion  and  Stress  Management)
          วิธีควบคุมอารมณ์ความเครียดและความคับข้องใจ  ที่ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น      แล้วลงมือปฏิบัติอย่างเหมาะสม  เช่น  ทำสมาธิ  เล่นกีฬา    การร่วมกิจกรรม  นันทนาการ  การคลายกล้ามเนื้อ  (muscle  relaxation)

การช่วยฟื้นคืนชีพ  (Cardiopulmonary  Resuscitation = CPR)
          การช่วยชีวิตเบื้องต้นก่อนส่งต่อให้แพทย์ในกรณีผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น  โดยการนวดหัวใจและผายปอดไปพร้อม ๆ  กัน

การดูแลเบื้องต้น  (First  Care)
          การให้การดูแลสุขภาพผู้ป่วยในระยะพักฟื้นและ / หรือการปฐมพยาบาล

การพัฒนาที่ยั่งยืน  (Sustainable  Development)
            การพัฒนาที่เป็นองค์รวมของความเป็นมนุษย์ตามแนวทางของพระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุตโต)  เป็นการพัฒนาที่เป็นบูรณาการ  คือ  ทำให้เกิดเป็นองค์รวมหมายความว่า  องค์ประกอบทั้งหลาย                 ที่เกี่ยวข้อง  จะต้องประสานกันครบทั้งร่างกาย  จิตใจ  อารมณ์  สังคม  และจิตวิญญาณ  และมีดุลยภาพ  สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ

การละเล่นพื้นเมือง  (Folk  Plays)
          กิจกรรมเล่นดั้งเดิมของคนในชุมชนแต่ละท้องถิ่น  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตหรือวิถีชีวิต เพื่อเป็นการผ่อนคลายอารมณ์   ความเครียด   และสร้างเสริมให้มีกำลังกายแข็งแรง สติปัญญาดี    จิตใจเบิกบานสนุกสนาน   อันก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน  และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม  เช่น   กิจกรรมการเล่นของชุมชนท้องถิ่น  วิ่งเปี้ยว  ชักเย่อ  ขี่ม้าส่งเมือง  ตีจับ  มอญซ่อนผ้า  รีๆข้าวสาร   วิ่งกระสอบ  สะบ้า   กระบี่กระบอง  มวยไทย  ตะกร้อวง  ตะกร้อลอดบ่วง

กิจกรรมเข้าจังหวะ  (Rhythmic  Activities)
          การแสดงออกของร่างกาย  โดยการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ  ของร่างกายให้เข้ากับอัตราความ ช้า เร็วของตัวโน้ต

กิจกรรมนันทนาการ   (Recreation  Activities)
          กิจกรรมที่บุคคลได้เลือกทำหรือเข้าร่วมด้วยความสมัครใจในเวลาว่าง  และผลที่ได้รับเป็นความพึงพอใจ  ไม่เป็นภัยต่อสังคม

กิจกรรมรับน้ำหนักตนเอง  (Weight  Bearing Activities
          กิจกรรมการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวบนพื้น  เช่น   การเดิน   การวิ่ง   การกระโดดเชือก   ยิมนาสติก   การเต้นรำหรือการเต้นแอโรบิก    โดยกล้ามเนื้อส่วนที่รับน้ำหนักต้องออกแรงกระทำกับน้ำหนักของตนเองในขณะปฏิบัติกิจกรรม

กีฬาไทย  (Thai  Sports)
          กีฬาที่มีพื้นฐานเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของท้องถิ่นและสังคมไทย  เช่น  กระบี่กระบอง   มวยไทย  ตะกร้อ

กีฬาสากล  (International  Sports)
          กีฬาที่เป็นที่ยอมรับจากมวลสมาชิกขององค์กรกีฬาระดับนานาชาติให้เป็นชนิดกีฬาที่บรรจุอยู่ในเกมการแข่งขัน  เช่น  ฟุตบอล  วอลเลย์บอล    เทนนิส  แบดมินตัน

เกณฑ์สมรรถภาพทางกาย  (Physical  Fitness  Reference)
          ค่ามาตรฐานที่ได้กำหนดขึ้น  (จากการศึกษาวิจัยและกระบวนการสถิติ)  เพื่อเป็นดัชนีสำหรับประเมินเปรียบเทียบว่าบุคคลที่ได้รับคะแนน   หรือค่าตัวเลข  (เวลา จำนวน  ครั้ง  น้ำหนัก  ฯลฯ)   จากการทดสอบสมรรถภาพทางกายแต่ละรายการทดสอบนั้น   มีสมรรถภาพทางกายตามองค์ประกอบดังกล่าวอยู่ในระดับคุณภาพใด  โดยทั่วไปแล้วนิยมจัดทำเกณฑ์ใน  ๒  ลักษณะ  คือ 
          ๑.  เกณฑ์ปกติ  (Norm  Reference)  เป็นเกณฑ์ที่จัดทำจากการศึกษากลุ่มประชากร ที่จำแนกตามกลุ่มเพศและวัย  เป็นหลัก  ส่วนใหญ่แล้วจะจัดทำในลักษณะของเปอร์เซ็นไทล์




          ๒.  เกณฑ์มาตรฐาน  (Criterion  Reference)  เป็นระดับคะแนนหรือค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ล่วงหน้า  สำหรับแต่ละราย  การทดสอบเพื่อเป็นเกณฑ์การตัดสินว่าบุคคลที่รับการทดสอบ                      มีสมรรถภาพหรือความสามารถผ่านตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ มิได้เป็นการเปรียบเทียบกับบุคคลอื่น ๆ

ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว  (Movement  Concepts)
          ความสัมพันธ์ระหว่างขนาด   จังหวะ  เวลา  พื้นที่  และทิศทางในการเคลื่อนไหวร่างกาย
          ความเข้าใจถึงความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง   และความพอเหมาะพอดีระหว่างขนาดของแรงที่ใช้ ในการเคลื่อนไหวร่างกายหรือวัตถุ   ด้วยห้วงเวลา  จังหวะและทิศทางที่เหมาะสมภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่ที่มีอยู่  และสามารถแปรความเข้าใจดังกล่าวทั้งหมดไปสู่การปฏิบัติการเคลื่อนไหวในการเล่นหรือแข่งขันกีฬา

ความเสี่ยงต่อสุขภาพ (Health  Risk)
          การประพฤติปฏิบัติที่อาจนำไปสู่การเกิดอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของตนเองและผู้อื่น  เช่น  การขับรถเร็ว  การกินอาหารสุก ๆ  ดิบ ๆ  ความสำส่อนทางเพศ  การมีน้ำหนักตัวเกิน  การขาด                    การออกกำลังกาย   การสูบบุหรี่  การดื่มสุรา  การใช้ยาและสารเสพติด

ค่านิยมทางสังคม (Health  Value)
          คุณสมบัติของสิ่งใดก็ตาม  ซึ่งทำให้สิ่งนั้นเป็นประโยชน์น่าสนใจ   สิ่งที่บุคคลยึดถือในการตัดสินใจและกำหนดการกระทำของตนเองเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพ

คุณภาพชีวิต  (Quality  of  Life)
          ความรับรู้หรือเข้าใจของปัจเจกบุคคลที่มีต่อสถานภาพชีวิตของตนเองภายใต้บริบทของระบบวัฒนธรรมและค่านิยมที่เขาใช้ชีวิตอยู่   และมีความเชื่อมโยงกับจุดมุ่งหมาย  ความคาดหวัง   มาตรฐาน  รวมทั้งความกังวลสนใจที่เขามีต่อสิ่งต่าง ๆ  คุณภาพชีวิตเป็นมโนคติที่มีขอบเขตกว้างขวาง  ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ  ที่สลับซับซ้อน  ได้แก่  สุขภาพทางกาย  สภาวะทางจิต  ระดับความเป็นตัวของตัวเอง   ความสัมพันธ์ต่าง ๆ  ทางสังคม  ความเชื่อส่วนบุคคล  และสัมพันธภาพที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม

จิตวิญญาณในการแข่งขัน  (Competitive  Spiritual)
          ความมุ่งมั่น  การทุ่มเทกำลังกาย  กำลังใจ  ความรู้  ความสามารถในการแข่งขัน  และร่วมมืออย่างสันติเต็มความสามารถ  เพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่ตนเองต้องการ



ทักษะชีวิต (Life  Skills)
          เป็นคุณลักษณะหรือความสามารถเชิงสังคมจิตวิทยา  (Psychosocial  Competence)  และเป็นความสามารถทางสติปัญญา   ที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้ในการเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้น                    ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สามารถพัฒนาขึ้นได้ด้วยการฝึกและกระทำซ้ำ ๆ  ให้เกิดความคล่องแคล่ว  เคยชิน   จนเป็นลักษณะนิสัย  ประกอบด้วยทักษะต่าง ๆ  ดังนี้  คือ  การรู้จักตนเอง  เข้าใจตนเองและเห็นคุณค่าของตนเอง  การรู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณและคิดสร้างสรรค์   การรู้จักคิดตัดสินใจและแก้ปัญหา   การรู้จักแสวงหาและใช้ข้อมูลความรู้   การสื่อสารและการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น  การจัดการกับอารมณ์และความเครียด  การปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง                           การตั้งเป้าหมาย  การวางแผนและดำเนินการตามแผน  ความเห็นใจผู้อื่น   ความรับผิดชอบต่อสังคมและซาบซึ้งในสิ่งที่ดีงามรอบตัว

ธงโภชนาการ (Nutrition Flag)
            เป็นเครื่องมือที่ช่วยอธิบายและทำความเข้าใจโภชนบัญญัติ ๙ ประการ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ โดยกำหนดเป็นภาพ ธงปลายแหลม แสดงกลุ่มอาหารและสัดส่วนการกินอาหารในแต่ละกลุ่ม              มากน้อยตามพื้นที่  สังเกตได้ชัดเจนว่า ฐานใหญ่ด้านบนเน้นให้กินมากและปลายธงข้างล่างบอกให้กิน          น้อย ๆ   เท่าที่จำเป็นโดยมีฐานมาจากข้อปฏิบัติการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย หรือ               โภชนบัญญัติ ๙ ประการ  คือ
กินอาหารครบ ๕ หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลายและหมั่นดูแลน้ำหนักตัว
กินข้าวเป็นอาหารหลักสลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ
กินพืชผักให้มากและกินผลไม้เป็นประจำ
กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ
ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย
กินอาหารที่มีไขมันแต่พอควร
หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัด และเค็มจัด
กินอาหารที่สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน
งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

น้ำใจนักกีฬา  (Spirit)
          เป็นคุณธรรมประจำใจของการเล่นร่วมกัน   อยู่ร่วมกัน    และมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม                  ได้อย่างปกติสุขและมีประสิทธิภาพ  พฤติกรรมที่แสดงถึงความมีน้ำใจนักกีฬา เช่น  การมีวินัย    เคารพกฎกติกา    รู้แพ้   รู้ชนะ  รู้อภัย


บริการสุขภาพ  (Health  Service)
          บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งของรัฐและเอกชน

ประชาสังคม  (Civil  Society)
          เครือข่าย  กลุ่ม  ชมรม  สมาคม  มูลนิธิ  สถาบัน  องค์กร  หรือชุมชนที่มีกิจกรรม
การเคลื่อนไหวทางสังคม   เพื่อประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม

ผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Health  Products)
          ยา  เครื่องสำอาง  อาหารสำเร็จรูป  เครื่องปรุงรสอาหาร  อาหารเสริม  วิตามิน

พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ  (Sex  Abuse)
          การประพฤติปฏิบัติใด ๆ ที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติทางเพศตนเอง  เช่น  มีจิตใจรักชอบในเพศเดียวกัน  การแต่งตัวหรือแสดงกิริยาเป็นเพศตรงข้าม

พฤติกรรมสุขภาพ (Health  Behaviour)
          การปฏิบัติหรือกิจกรรมใด ๆ  ในด้านการป้องกัน  การสร้างเสริม  การรักษาและการฟื้นฟูสุขภาพ  อันมีผลต่อสภาวะทางสุขภาพของบุคคล

พฤติกรรมเสี่ยง  (Risk  Behaviour)
          รูปแบบจำเพาะของพฤติกรรม  ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่า  มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มโอกาส      ที่จะป่วยจากโรคบางชนิดหรือการเสื่อมสุขภาพมากขึ้น

พลังปัญญา  (Empowerment)
          กระบวนการสร้างเสริมศักยภาพแก่บุคคลและชุมชนให้เป็นผู้สนใจใฝ่รู้  และมีอำนาจ                  ในการคิด  การตัดสินใจ  การแก้ปัญหาด้วยชุมชนเองได้เป็นส่วนใหญ่  นอกจากนั้นบุคคลและชุมชน           ยังสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพให้อยู่ในสภาพที่เอื้อต่อการสร้างเสริมและพัฒนาสุขภาพ

ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition)
          การขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก  ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพ



ภาวะผู้นำ  (Leadership)
          การมีคุณลักษณะในการเป็นหัวหน้า  สามารถชักชวนและชี้นำสมาชิกในกลุ่มร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ภูมิปัญญาไทย  (Thai  Wisdom)
          สติปัญญา  องค์ความรู้และค่านิยมที่นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม   เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์  ความรู้แขนงต่าง ๆ  ของบรรพชนไทยนับแต่อดีต   สอดคล้องกับวิถีชีวิต   ภูมิปัญญาไทย  จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย            ทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม
          ลักษณะของภูมิปัญญาไทย  มีองค์ประกอบต่อไปนี้
          ๑.  คติ   ความเชื่อ  ความคิด  หลักการที่เป็นพื้นฐานขององค์ความรู้ที่เกิดจากสั่งสมถ่ายทอดกันมา
          ๒.  ศิลปะ  วัฒนธรรม  และขนบธรรมเนียมประเพณี
          ๓.  การประกอบอาชีพในแต่ละท้องถิ่นที่ได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมกับสมัย
          ๔.  แนวคิด  หลักปฏิบัติ  และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำมาใช้ในชุมชน  ซึ่งเป็นอิทธิพลของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
          ตัวอย่างภูมิปัญญาไทยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ  เช่น   การแพทย์แผนไทย  สมุนไพร  อาหารไทย  ยาไทย  ฯลฯ

แรงขับทางเพศ  (Sex  Drive)
          แรงขับที่เกิดจากสัญชาตญาณทางเพศ

ล่วงละเมิดทางเพศ  (Sexual  Abuse)
          การใช้คำพูด  การจับ  จูบ  ลูบ  คลำ และ / หรือร่วมเพศ  โดยไม่ได้รับการยินยอมจาก                 ฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะกับผู้เยาว์

สติ  (Conscious)
          ความรู้สึกตัวอยู่เสมอในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ   การให้หลักการและเหตุผลในการป้องกัน  ยับยั้งชั่งใจ  และควบคุมตนเองเพื่อไม่ให้คิดผิดทาง  ไม่หลงลืม   ไม่เครียด  ไม่ผิดพลาด   ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ถูกต้องดีงาม




สมรรถภาพกลไก (Motor  Fitness) หรือสมรรถภาพเชิงทักษะปฏิบัติ  (Skill -  Related  Physical  Fitness)
          ความสามารถของร่างกายที่ช่วยให้บุคคลสามารถประกอบกิจกรรมทางกาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นกีฬาได้ดี  มีองค์ประกอบ  ๖  ด้าน  ดังนี้
          ๑.  ความคล่อง  (Agility)  หมายถึง  ความสามารถในการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วและสามารถควบคุมได้
          ๒.  การทรงตัว  (Balance)  หมายถึง  ความสามารถในการรักษาดุลของร่างกายเอาไว้ได้              ทั้งในขณะอยู่กับที่และเคลื่อนที่
          ๓.  การประสานสัมพันธ์  (Co – ordination)  หมายถึง  ความสามารถในการเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น  กลมกลืน  และมีประสิทธิภาพ  ซึ่งเป็นการทำงานประสานสอดคล้องกันระหว่างตา-มือ-เท้า
          ๔.  พลังกล้ามเนื้อ  (Power)  หมายถึง  ความสามารถของกล้ามเนื้อส่วนหนึ่งส่วนใดหรือ         หลาย ๆ   ส่วนของร่างกายในการหดตัวเพื่อทำงานด้วยความเร็วสูง   แรงหรืองานที่ได้เป็นผลรวมของความแข็งแรงและความเร็วที่ใช้ในช่วงระยะเวลานั้น ๆ  เช่น  การยืนอยู่กับที่  กระโดด  การทุ่มน้ำหนัก เป็นต้น
          ๕.  เวลาปฏิกิริยาตอบสนอง (Reaction time) หมายถึง ระยะเวลาที่ร่างกายใช้ในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ  เช่น  แสง  เสียง  สัมผัส
          ๖.  ความเร็ว  (Speed)  หมายถึง    ความสามารถในการเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว

สมรรถภาพทางกาย (Physical  Fitness)
          ความสามารถของระบบต่าง ๆ  ของร่างกาย  ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  บุคคลที่มีสมรรถภาพทางกายดีนั้นจะสามารถประกอบกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างกระฉับกระเฉง   โดยไม่เหนื่อยล้าจนเกินไปและยังมีพลังงานสำรองมากพอ  สำหรับกิจกรรมนันทนาการหรือกรณีฉุกเฉิน  ในปัจจุบันนักวิชาชีพด้านสุขศึกษาและพลศึกษาได้เห็นพ้องต้องกันว่า  สมรรถภาพทางกายสามารถจัดกลุ่มได้เป็นสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ (Health – Related  Physical Fitness)   และหรือสมรรถภาพกลไก  (Motor  Fitness)   สมรรถภาพเชิงทักษะปฏิบัติ  (Skill – Related  Physical  Fitness)


สมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพ  (Health – Related  Physical  Fitness)
          ความสามารถของระบบต่าง ๆ  ในร่างกายประกอบด้วย  ความสามารถเชิงสรีรวิทยาด้านต่าง ๆ  ที่ช่วยป้องกันบุคคลจากโรคที่มีสาเหตุจากภาวะการขาดการออกกำลังกาย  นับเป็นปัจจุบันหรือตัวบ่งชี้สำคัญของการมีสุขภาพดี  ความสามารถหรือสมรรถนะเหล่านี้  สามารถปรับปรุงพัฒนาและคงสภาพได้  โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  สมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพมีองค์ประกอบดังนี้
          ๑.  องค์ประกอบของร่างกาย  (Body Composition)  ตามปกติแล้วในร่างกายมนุษย์ประกอบด้วย  กล้ามเนื้อ   กระดูก  ไขมัน  และส่วนอื่น ๆ   แต่ในส่วนของสมรรถภาพทางกายนั้น  หมายถึง  สัดส่วนปริมาณไขมันในร่างกายกับมวลร่างกายที่ปราศจากไขมัน  โดยการวัดออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ไขมัน (%  fat)  ด้วยเครื่อง
          ๒.  ความทนทานของระบบไหลเวียนโลหิต  (Cardiorespiratory  Endurance)  หมายถึง  สมรรถนะเชิงปฏิบัติของระบบไหลเวียนโลหิต  (หัวใจ  หลอดเลือด)  และระบบหายใจในการลำเลียงออกซิเจนไปยังเซลล์กล้ามเนื้อ  ทำให้ร่างกายสามารถยืนหยัดที่จะทำงานหรือออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่เป็นระยะเวลายาวนานได้
          ๓.  ความอ่อนตัวหรือความยืดหยุ่น  (Flexibility)  หมายถึง  พิสัยของการเคลื่อนไหวสูงสุดเท่าที่จะทำได้ของข้อต่อหรือกลุ่มข้อต่อ
          ๔.  ความทนทานหรือความอดทนของกล้ามเนื้อ  (Muscular Endurance)  หมายถึง  ความสามารถของกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งหรือกลุ่มกล้ามเนื้อ  ในการหดตัวซ้ำ ๆ เพื่อต้านแรงหรือความสามารถในการคงสภาพการหดตัวครั้งเดียวได้เป็นระยะเวลายาวนาน
          ๕.  ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ  (Muscular  Strength)  หมายถึง  ปริมาณสูงสุดของแรง  ที่กล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งหรือกลุ่มกล้ามเนื้อสามารถออกแรงต้านทานได้   ในช่วงการหดตัว  ๑  ครั้ง

สุขบัญญัติแห่งชาติ  (National  Health  Disciplines)
          ข้อกำหนดที่เด็กและเยาวชน  ตลอดจนประชาชนทั่วไป  พึงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จนเป็นสุขนิสัย  เพื่อให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกาย  จิตใจ  และสังคม  ซึ่งกำหนดไว้  ๑๐  ประการ ดังนี้
1.            ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด
2.            รักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง
3.            ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย
4.            กินอาหารสุก สะอาด  ปราศจากสารอันตราย  และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด   สีฉูดฉาด
5.            งดบุหรี่  สุรา  สารเสพติด  การพนัน  และการสำส่อนทางเพศ
6.            สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น
7.            ป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท
8.            ออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจำปี
9.            ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ
10.    มีสำนึกต่อส่วนรวม  ร่วมสร้างสรรค์สังคม
สุขภาพ  (Health)
          สุขภาวะ  (Well – Being หรือ  Wellness)  ที่สมบูรณ์และเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุลทั้งมิติทางจิตวิญญาณ  (มโนธรรม)  ทางสังคม  ทางกาย  และทางจิต  ซึ่งมิได้หมายถึงเฉพาะความ ไม่พิการและความไม่มีโรคเท่านั้น
สุนทรียภาพของการเคลื่อนไหว  (Movement  Aesthetic)
          ศิลปะและความงดงามของท่วงท่าในการเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่าง ๆ  ซึ่งเป็นผลมาจากความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบท่าทางการเคลื่อนไหวและการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ  สามารถแสดงออกมาเป็นความกลมกลืนและต่อเนื่อง
แอโรบิก  (Aerobic)
          กระบวนการสร้างพลังงานแบบต้องใช้อากาศ  ซึ่งในที่นี้  หมายถึง  ออกซิเจน  (Aerobic -energe  delivery)   ในการสร้างพลังงานของกล้ามเนื้อ   เพื่อทำงานหรือเคลื่อนไหว นั้น  กล้ามเนื้อจะมีวิธีการ  ๓  แบบที่จะได้พลังงานมา
แบบที่ ๑  เป็นการใช้พลังงานที่มีสำรองอยู่ในกล้ามเนื้อซึ่งจะใช้ได้ในเวลาไม่เกิน   ๓  วินาที
แบบที่ ๒  การสังเคราะห์พลังงานโดยไม่ใช้ออกซิเจน  (Anaerobic  energy  delivery)                  ซึ่งใช้ได้ไม่เกิน  ๑๐  วินาที

แบบที่ ๓  การสังเคราะห์สารพลังงาน  โดยใช้ออกซิเจน  ซึ่งจะใช้พลังงานได้ระยะเวลานาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น