วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สุขภาพใน ร.ร.

สุขภาพใน ร.ร.
 โรงเรียนเป็นสถานที่ที่รวมของประชากรกลุ่มวัยเรียนและเยาวชนซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชน ที่สำคัญเป็นประชากรกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศ โรงเรียนจึงจำเป็นต้องเป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัยจากการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาที่เด็กอยู่ในโรงเรียน พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีสุขภาพดีแบบองค์รวม
      การบริการอนามัยโรงเรียนเป็นบริการที่จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม ป้องกันการเจ็บป่วยและแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนของเด็กนักเรียน นอกจากนั้นยังเป็นการเสริมสร้างปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปให้กลับมามีพฤติกรรมที่ถูกต้อง นักเรียนมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน แนวทางการแก้ไข การส่งเสริม ป้องกันจึงมีแนวทางในที่แตกต่างกันออกไป การจัดบริการสุขภาพในโรงเรียนหรือสถานศึกษาประกอบด้วยการจัดบริการด้านสุขภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อม มีการประสานงานกันระหว่างโรงเรียน บ้านและชุมชนเพื่อเอื้ออำนวยและสนับสนุนทรัพยากรให้งานบรรลุเป้าหมาย บุคลากรทางด้านสาธารณสุขมีบทบาทหน้าที่มุ่งให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีทัศนคติที่ดีและมีการปฏิบัติตนที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว ชุมชน ขอบเขตงานอนามัยโรงเรียนประกอบด้วยกิจกรรมด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ด้านสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่ถูกสุขลักษณะ (School Health Environment)       หรือการสุขาภิบาลโรงเรียน (School Sanitation) คือการจัดโรงเรียนให้ถูกสุขลักษณะ ให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะ โดยการควบคุมดูแลและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในโรงเรียนให้อยู่ในสภาพที่ดี เพื่อให้ปลอดภัยจากโรค การเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ เชื่อกันว่าสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลบวกต่อสุขภาพ แนวทางการดูแลสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น สิ่งแวดล้อมที่ดีในโรงเรียนเป็นการส่งเสริมและป้องกันโรค สิ่งสำคัญนักเรียนได้รู้บทบาทของตนเอง เกิดความตระหนัก และเห็นความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะ ดังนั้นการจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของเด็กนักเรียน โดยเฉพาะการจัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน เพราะโรงเรียนเป็นแหล่งประโยชน์ที่สำคัญของชุมชน และมีบทบาทในการให้ความรู้ ปลูกฝังทัศนคติ พฤติกรรมต่างๆ ให้แก่เด็กนักเรียนซึ่งเป็นผลผลิตของชุมชน โดยมุ่งให้เขาเหล่านั้นสามารถนำ ความรู้ ทักษะชีวิต ประสบการณ์ ที่ได้รับจากการเรียนในโรงเรียนไปใช้ในการดำรงชีวิต รวมทั้งสามารถดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวและในชุมชนได้ สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือทำให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาต่างๆ เป็น ซึ่งจะส่งผลให้เด็กนั้นเติบโต เป็นทรัพยากรมนุษย์ ที่มีคุณยิ่งในอนาคต
การจัดสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะมีดังนี้
       1. การควบคุมป้องกัน ปรับปรุงสิ่งที่เข้าสู่ร่างกายให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคและสารพิษ เช่น น้ำ ขยะ ส้วม
       2. นึกถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นภายในโรงเรียน ครูสามารถควบคุมและป้องกันได้ เช่น สนามเด็กเล่น สระน้ำหรือเครื่องเล่นภายในโรงเรียน
       3. ดูแลความสะอาดของสถานที่ปรุงอาหาร ขายอาหาร ตลอดจนการใช้สารปรุงแต่งในการประกอบอาหาร
       4. ดูแลเกี่ยวกับน้ำดื่มน้ำใช้ตลอดจนภาชนะใส่น้ำดื่มให้เพียงพอ
       5. ห้องน้ำมีความสะอาด เพียงพอกับจำนวนนักเรียน
       6. การกำจัดสิ่งปฏิกูล กำจัดขยะ น้ำโสโครกอันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แลงและสัตว์นำโรค
       7. การจัดห้องเรียน ดูแลเกี่ยวกับการถ่ายเทอากาศ ความร้อน แสงสว่าง การจัดโต๊ะ เก้าอี้ และความปลอดภัยของตัวอาคาร
       8. การจัดห้องพยาบาลให้ถูกสุขลักษณะและจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ที่เหมาะสม
       9. ส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะ และสวยงาม
      สถานที่ตั้ง
โรงเรียนไม่ควรตั้งอยู่ห่างจากบ้านมากเกินไป และห่างจากชุมชนอย่างน้อยครึ่งกิโลเมตร ที่ตั้งควรเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง บริเวณโรงเรียนควรมีเนื้อที่เพียงพอ มีสนามเด็กเล่นสามารถขยายโรงเรียนได้ในอนาคต ควรมีต้นไม้ใหญ่เพื่อเป็นร่มเงา
      เสียง
โรงเรียนต้องอยู่ห่างจากเสียงที่เป็นปัญหากับหู เช่น โรงงานอุตสาหกรรม สถานีขนส่ง สนามบิน เป็นต้น WHO ได้กำหนดความดังเสียงที่คนเราทนฟังได้ ไม่เกิน 85 เดซิเบล
      สนามโรงเรียน
ควรจัดบริเวณสนามโรงเรียนให้นักเรียนได้ออกกำลังกาย มีเครื่องเล่นสำหรับการปีนป่าย สนามฟุตบอล สระว่ายน้ำควรมีรั้วล้อมรอบและมีป้ายปิดประกาศเป็นเขตอันตรายห้ามเข้าใกล้
      อาคารเรียน
การก่อสร้างอาคารต้องคำนึงถึงแสงสว่าง การระบายอากาศ อาคารไม่ควรหันหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตกเนื่องจากเป็นทิศของการรับแสง ทำให้รบกวนการเรียนของนักเรียน รูปตัวอาคารควรเป็นรูปตัว U L I E T เพื่อความสะดวกในการขยายโรงเรียนในอนาคต ผนังห้องเรียนควรเป็นสีสว่างพอดี เช่น ขาว เทา ครีม ฟ้า เป็นต้น
      อาคารประกอบ
อาคารประกอบ เช่น โรงครัว โรงอาหาร โรงฝึกงาน โรงพลศึกษาควรแยกเป็นสัดส่วนเพื่อป้องกันกลิ่น เสียงรบกวนสมาธิในการเรียนของนักเรียน
      ห้องพยาบาล
ควรอยู่ชั้นล่างสุดของอาคาร และควรอยู่ใกล้ห้องครู หรือในกรณีที่ไม่มีห้องพยาบาลก็สามารถกั้นแบ่งห้องของครูโดยใช้ม่านกั้น
      การจัดน้ำดื่ม น้ำใช้
น้ำดื่มต้องเป็นน้ำที่สะอาด เพียงพอกับความต้องการของนักเรียน เช่น มีอ่างน้ำพุ หรือน้ำสะอาดให้นักเรียนดื่มหรือใช้ตามเกณฑ์ที่กรมอนามัยกำหนดไว้
      การกำจัดขยะมูลฝอย
ควรมีภาชนะเก็บและรองรับขยะมูลฝอยตามบริเวณต่าง ๆ ในโรงเรียน รวมทั้งมีการระบายน้ำทิ้งที่ถูกสุขลักษณะ
      ส้วมและที่ปัสสาวะ จำนวนที่ปัสสาวะต้องพอเหมาะกับจำนวนนักเรียน
2. การบริการด้านสุขภาพ (Health service)
      การบริการด้านสุขภาพเป็นการดำเนินงานเพื่อการส่งเสริม ป้องกันการเกิดโรคในเด็กวัยเรียน ซึ่งการเจ็บป่วยเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนของเด็ก ดังนั้นในการดำเนินงานในส่วนนี้เป็นการดำเนินงานในลักษณะเป็นทีม มิใช่ผู้ใดผู้หนึ่งดำเนินการโดยลำพัง ที่สำคัญคือต้องมีการวางแผนร่วมกับครูผู้ซึ่งรับผิดชอบงานด้านสุขภาพในโรงเรียน เพื่อร่วมค้นหาปัญหา วางแผน ดำเนินงานตามแผนและประเมินผล กิจกรรมด้านการบริการสุขภาพแก่นักเรียนจะครอบคลุมการบริการด้านต่าง ๆ เช่น การตรวจสุขภาพ ตรวจวัดสายตา ตรวจการได้ยิน เฝ้าระวังภาวะการเจริญเติบโตด้วยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง การสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน โรคด้วยการฉีดวัคซีน เป็นต้น
3. การบริการด้านการศึกษาหรือสุขศึกษา (Health Education)
      การสอนสุขศึกษา เป็นกระบวนการหรือขั้นตอนเกี่ยวกับการจัดประสบการณ์ด้านการเรียนการสอน เป็นกิจกรรมการให้ความรู้ เสริมสร้างประสบการณ์ ปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพแก่นักเรียน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ รูปแบบกิจกรรมด้านนี้อาจจะเป็นบทบาทของเจ้าหน้าที่ทางสุขภาพในการให้ความรู้แก่นักเรียน หรือการสนับสนุน ให้ครู นักเรียนเป็นผู้ให้ความรู้เรื่องสุขภาพแก่เพื่อน ๆ ด้วยกัน
4. การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน บ้านและชุมชน (School and Home Relationship)
      การดำเนินงานในปัจจุบันเป็นลักษณะใช้สถานที่หรือกลุ่มเป้าหมายเป็นฐาน โรงเรียนก็เช่นเดียวกัน โรงเรียนเป็นสถาบันทางสังคมที่ทำหน้าที่อบรมสั่งสอน เด็กไทยให้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา การดำเนินงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน ทั้งฝ่ายครอบครัวและชุมชน ให้ทุกฝ่ายมีความรู้ มีความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทความรับผิดชอบเกี่ยวกับสุขภาพ ดังนั้นเมื่อเด็กเข้าสู่รั้วของโรงเรียนมิใช่หมายความว่าครอบครัวหรือชุมชนจะขาดการดูแล แต่ทั้งครอบครัว ชุมชน และโรงเรียนต้องร่วมมือกันทำหน้าที่อบรมสั่งสอนดังกล่าว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น