วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พบ “ปลาดุกย่าง” มีสารก่อมะเร็งมากสุด แต่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

พบ ปลาดุกย่างมีสารก่อมะเร็งมากสุด แต่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
โดย kittipanan | วันที่ 9 พฤศจิกายน 2555
เผยพบ "ปลาดุกย่าง" มีสารก่อมะเร็งมากสุด แต่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แนะตัดส่วนที่ไหม้เกรียมออก และลอกหนังรับประทานแต่เนื้อ ลดความเสี่ยงมะเร็ง ขณะที่ผลตรวจบะหมี่เกาหลีคาด 2 วัน รู้ผล
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยี่ห้อหนึ่งของเกาหลี ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ส่งตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดังกล่าวมาตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว ภายหลังมีข่าวว่ามีการตรวจพบสารเบนโซเอไพรีน ซึ่งเป็นสารที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็งปนเปื้อนในผงปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดังกล่าว โดยทาง อย.ส่งตัวอย่างมาให้ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. ซึ่งในขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์นั้นจะเริ่มจากการสลายตัวอย่าง กำจัดสิ่งเจือปนอื่นออกไป และตรวจวัดปริมาณสารเบนโซเอไพรีน
ทั้งนี้ ในขั้นตอนของการสลายตัวอย่างจะต้องใช้เวลานานประมาณ 18 ชั่วโมง แต่ตนได้กำชับให้เพิ่มความรวดเร็วในการตรวจวิเคราะห์ให้ทราบผลเร็วขึ้น เนื่องจากเป็นเรื่องที่ทาง รมว.สาธารณสุข ให้ความสำคัญ และอยู่ในความสนใจของประชาชน ดังนั้นจึงคาดว่าจะทราบผลการตรวจวิเคราะห์ภายใน 2 วัน จากนั้นจะมีการส่งผลให้กับทาง อย.ต่อไป
นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า สารเบนโซเอไพรีน เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ แต่เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่ำ แม้จะมีการทดลองพบว่าสารนี้มีผลก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่พบข้อมูลที่เพียงพอว่าจะทำให้ก่อมะเร็งในคน อย่างไรก็ตามทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารนี้ในอาหารมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2554 มีการสุ่มสำรวจอาหารที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการปนเปื้อน ได้แก่ ไก่ย่าง ปลาดุกย่าง และหมูปิ้ง
ทั้งนี้ จากการเก็บตัวอย่างจากตลาดสดในกทม. 42 แห่งรวม 101 ตัวอย่าง เป็นไก่ย่าง 35 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนร้อยละ 31 ปริมาณสารดังกล่าวที่พบอยู่ที่ 0.5-0.7 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ปลาดุกย่าง 36 ตัวอย่างพบปนเปื้อน ร้อยละ 81 ปริมาณสารที่พบอยู่ที่ 0.5-3.2 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และหมูปิ้ง 30 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนร้อยละ 40 ปริมาณสารที่พบอยู่ที่ 0.3-1.3 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปริมาณสารที่พบยังถือว่ามีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ประกาศในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งกำหนดไว้ที่ 5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม
นายมงคล เจนจิตติกุล ผอ.สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า แม้ผลการตรวจวิเคราะห์ในกลุ่มอาหารที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารดังกล่าวจะพบการปนเปื้อนในปริมาณที่ต่ำกว่ามาตรฐานมาก แต่อยากแนะนำว่าเพื่อความปลอดภัยก่อนรับประทานควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมออกไป ไม่ควรรับประทานอาหารปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม ส่วนกรณีปลาดุกย่างนั้นแนะนำว่าควรลอกหนังออกและรับประทานแต่เนื้อจะช่วยลดความเสี่ยงการได้รับสารดังกล่าวลงได้


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น